จังหวัด ลำพูน

 

       images

     จังหวัด ลำพูน

 

จังหวัดลำพูน  เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวีเดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยสืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพระยายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พ่อขุนเม็งรายมหาราช ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา

ถึงแม้ว่าเมืองลำพูนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากจังหวัดลำพูนจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกลำไย พระเครื่อง โบราณสถานที่สำคัญ และผ้าทอฝีมือดี

อาณาเขต

ลำพูนมีพื้นที่ติดกับจังหวัดอื่น ๆ 3 จังหวัด ดังนี้

ทีตั้ง

  • จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (สายเอเซีย) เป็นระยะทาง 689 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินสายพหลโยธิน เป็นระยะทาง 724 กิโลเมตร และตามทางรถไฟ 729 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 18 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศาตะวันออก อยู่ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่เพียง 22 ก.ม. เป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางความเจริญของภาคเหนือตอนบน และอนุภูมิภาค ลุ่มน้ำโขง หรือพื้นที่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจร่วมกับ จังหวัดเชียงใหม่
  • จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดของภาคเหนือมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4,505.882 ตร.กม. หรือประมาณ 2,815,675 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 4.85 ของพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน บริเวณที่กว้างที่สุดประมาณ 43 กม. และยาวจากเหนือจดใต้ 136 กม.
  • ลักษณะภูมิอากาศ จังหวัดลำพูนตั้งอยู่ในภาคเหนือ ซึ่งตามตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่ค่อนไปทาง เขตอากาศอบอุ่น ในฤดูหนาวจึงมีอากาศเย็นค่อนข้างหนาว แต่เนื่องจากอยู่ลึกเข้าไปใน แผ่นดินห่างไกลจากทะเล จึงมีฤดูแล้งที่ยาวนานและอากาศจะร้อนถึงร้อนจัดในฤดูร้อน จังหวัดลำพูนมีสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันอย่างเด่นชัด 3 ช่วงฤดู คือช่วงเดือนมีนาคม กับเมษายนมีอากาศร้อน ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม จะมีฝนตกชุกเป็นฤดูฝน และช่วงเดือนพฤศจิกายนถึง เดือนกุมภาพันธ์มีอากาศหนาวเย็นเป็นฤดูหนาว ซึ่งฤดูหนาวและฤดูร้อนนั้น เป็นช่วงฤดูแล้ง ที่มีระยะเวลาติดต่อกันประมาณ 6 เดือน ในช่วงฤดูฝนอีก 6 เดือน นั้น อากาศจะไม่ร้อนเท่ากับ ในฤดูร้อน และไม่หนาวเย็นเท่า ฤดูหนาว คือมีอุณหภูมิปานกลางอยู่ระหว่างสองฤดูดังกล่าว

หน่วยการปกครอง

จังหวัดลำพูนแบ่งการปกครองแบ่งออกเป็น 8 อำเภอ 51 ตำบล 520 หมู่บ้าน ดังนี้

  1. อำเภอเมืองลำพูน
  2. อำเภอแม่ทา
  3. อำเภอบ้านโฮ่ง
  4. อำเภอลี้
  5. อำเภอทุ่งหัวช้าง
  6. อำเภอป่าซาง
  7. อำเภอบ้านธิ
  8. อำเภอเวียงหนองล่อง

แผนที่อำเภอในจังหวัดลำพูน

 

 

  สถานที่ท่องเที่ยว

  ลำพูน จังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือที่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไม่ได้เล็กตามพื้นที่ แต่กลับยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในดินแดนล้านนา และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก และมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งวัดวาอาราม เจดีย์เก่าแก่ ศิลปะล้านนาแท้ที่มีลวดลายอันวิจิตรงดงาม อีกทั้งงานหัตถกรรมที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนานจนเป็นสินค้าขึ้นชื่ออย่างผ้าไหมยกดอก ดังนั้น วันนี้เราเลยหยิบเอา 10 สถานที่ท่องเที่ยวลำพูน ที่ควรไปเยือนสักครั้งหากมีโอกาสมาแนะนำกันค่ะ

1. พระธาตุหริภุญชัย

พระธาตุหริภุญชัย

ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูน มีถนนล้อมรอบสี่ด้าน ถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดชาวปีระกา และนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญยิ่งในล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1651 ในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช ราชกษัตริย์วงศ์รามัญผู้ครองนครลำพูน แม้องค์จะไม่ใหญ่โตแต่สร้างขึ้นด้วยทรวดทรงที่สมส่วน และงดงามด้วยประกายทองจังโกที่สะท้อนเปลวแดดขับให้องค์พระธาตุดูโดดเด่น ท่ามกลางวิหารอื่น ๆ โดยตามตำนานเล่าว่า 1,000 ปีก่อน เคยเป็นวังของพระเจ้าสรรพสิทธิ์ เมื่อพระองค์ทรงขุดพบพระบรมสารีริกธาตุหรือพระเกศาธาตุ จึงโปรดให้ก่อองค์พระธาตุขึ้น จนเมื่อ 500 ปีก่อน ในสมัยพระเจ้าติโลกราชได้โปรดให้ก่อพระธาตุแบบลังกาครอบองค์เดิมดังปรากฏในปัจจุบัน นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงศิลปวัตถุมากมาย อีกทั้งในวันเพ็ญเดือน 6 จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุทุกปี สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์ 0 5331 1104 หรือเว็บไซต์hariphunchaitemple.org

2. อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ตั้งอยู่เชิงดอยติ บริเวณวัดดอยติ ตำบลป่าสัก ห่างจากตัวเมืองลำพูนประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายเชียงใหม่-ลำปาง พระครูบาศรีวิชัยเป็นพระเถรเจ้านักพัฒนาแห่งล้านนาไทย ผู้พัฒนาทั้งด้านจิตใจและด้านถาวรวัตถุให้แก่ชาวล้านนาไว้อย่างอเนกอนันต์ ท่านมีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2421-2481 ถิ่นฐานบ้านเดิมของท่านอยู่ที่บ้านแม่ตื่น อำเภอลี้ จึงเป็นความภูมิใจอย่างใหญ่หลวงของชาวลำพูน ที่เมืองนี้เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา

3. วัดพระพุทธบาทตากผ้า

วัดพระพุทธบาทตากผ้า

วัดนี้เป็นปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดลำพูน บนม่อนดอยเบื้องหลังวัดได้มีการสร้างพระเจดีย์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ผสมผสานจากพระธาตุดอยสุเทพและพระธาตุหริภุญชัย โดยมีบันไดนาค 469 ขั้น เชื่อมระหว่างเจดีย์บนม่อนดอยกับวัดพระบาทตากผ้าที่เชิงดอย ปัจจุบันสามารถนำรถขึ้นไปได้ เมื่อถึงวันอัฐมีบูชา แรม 8 ค่ำ เดือนแปด ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่วัดมีประเพณีสรงน้ำพระพุทธบาทเป็นประจำทุกปี ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 0 5357 2961, 0 5300 5200 หรือเว็บไซต์ phrabat.com การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 106 บริเวณกิโลเมตรที่ 136-137 เข้าไปประมาณ 1 กิโลเมตร

4. วัดพระธาตุดอยเวียง

วัดพระธาตุดอยเวียง ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 บ้านดอยเวียง ตำบลบ้านธิ ห่างจากอำเภอบ้านธิประมาณ7 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ และบนดอยเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์เก่าแก่ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่  สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 1220 ในสมัยพระนางจามเทวี ตามตำนานจารึกในใบลานเล่าว่าขุนหลวงปาละวิจา มาตั้งเมืองที่นี่ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านและได้สร้างวัดไว้บนดอย ต่อมาถูกไฟป่าไหม้ลุกลามทำให้เหลือแต่เจดีย์และศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปเก่าแก่อีก 3 องค์ องค์แรกเป็นพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง 29 นิ้ว มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งฝนแล้ง ชาวบ้านเดือดร้อนเลยนำพระองค์นี้มาแห่ขอฝนปรากฏว่าฝนตก ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อพระองค์นี้ว่า “พระเจ้าสายฝน” องค์ที่สองหน้าตักกว้าง 99 นิ้ว ประดิษฐานที่ศาลาการเปรียญ องค์ที่สามหน้าตักกว้าง 89 นิ้วประดิษฐานที่เชิงดอย ทั้งสององค์ข้างในเป็นศิลาแลงและข้างนอกฉาบปูน สมัยที่ค้นพบนั้นเหลือไม่เต็มองค์เศียรปักดินชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระเจ้าดำดิน” ชั้นบนสุดของดอยเป็นที่ประดิษฐานของเจดีย์ธาตุดอยเวียง และทุก ๆ ปีในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 จะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุ

5. อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นป่าที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า มีทิวเขาทอดยาวเหยียดสลับซับซ้อน ลำห้วยน้อยใหญ่หลายสิบสาขาไหลผ่านที่สำคัญ คือ ลำห้วยแม่หาด ลำห้วยแม่ก้อ และทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามโดยเฉพาะพื้นที่ป่าตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำปิงตอนเหนือของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มีเนื้อที่ประมาณ 627,346 ไร่ หรือ 1,003.7536 ตารางกิโลเมตร โดยมียอดเขาที่สูงที่สุดชื่อ “ดอนห้วยหลาว” อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสูงประมาณ 1,334 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

อุทยานแห่งชาติแม่ปิง

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตกก้อหลวง เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามมาก เกิดจากลำห้วยแม่ก้อซึ่งไหลผ่านเทือกเขาหินปูนลดหลั่นลงมา 7 ชั้น ลงสู่แอ่งน้ำสีเขียวมรกตขนาดใหญ่ บริเวณหน้าผาริมน้ำตกยังเกิดหินงอกหินย้อยสวยงาม, แก่งก้อ เป็นทะเลสาบส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เดิมเป็นจุดที่ห้วยแม่ก้อไหลลงสู่แม่น้ำปิงแต่ภายหลังการสร้างเขื่อนภูมิพลระดับน้ำได้สูงท่วมพื้นที่ จนกลายเป็นทะเลสาบซึ่งมีทัศนียภาพอันงดงาม นักท่องเที่ยวนิยมมาพักเรือนแพและนั่งเรือชมความงามของหน้าผาหินปูน ซึ่งเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยและป่าเบญจพรรณริมฝั่งน้ำ และทุ่งกิ๊ก เป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติกว้างใหญ่ซึ่งอยู่ท่ามกลางป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ จึงเป็นแหล่งอาศัยหากินของสัตว์ป่า ในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกไม้ป่าหลายชนิดจะพากันบานเต็มทุ่งกิ๊กสวยงามน่าชมมาก นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติและดูนก ซึ่งนกที่พบเห็นได้ง่าย เช่น นกหัวขวาน ฯลฯ

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ตู้ ป.ณ. 18 อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน 51110 โทรศัพท์ 0 5354 6336, 0 5351 8060 หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ โทรศัพท์ 0 2562 0760  หรือเว็บไซต์ park.dnp.go.th

6. วัดจามเทวี

วัดจามเทวี

วัดจามเทวี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดกู่กุด ตั้งอยู่หมู่ 5 ริมถนนจามเทวี ตำบลในเมือง สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 1298 ฝีมือช่างละโว้ ลักษณะพระเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมแบบพุทธคยาในประเทศอินเดีย แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนปางประทานพรอยู่เป็นชั้น ๆ ภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามตำนานเล่าว่าเจ้าอนันตยศและเจ้ามหันตยศ ราชโอรสของพระนางจามเทวีได้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุอัฐิของพระนางเมื่อปี พ.ศ. 1298 เดิมมียอดห่อหุ้มด้วยทองคำ ต่อมาจะเป็นสมัยใดไม่ทราบชัด ยอดพระเจดีย์หักหายไปชาวบ้านจึงเรียกว่า “กู่กุด” หรือมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “พระเจดีย์สุวรรณจังโกฏ” นอกจากนั้นยังมีรัตนเจดีย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางขวาของวิหาร สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพระยาสรรพสิทธิ์ ฐานล่างสุดเป็นรูป 8 เหลี่ยม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.40 เมตร สูงจรดยอด 11.50 เมตร องค์เจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่ละเหลี่ยมเจาะเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนก่ออิฐถือปูนทั้งองค์

7. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย ตั้งอยู่ถนนอินทยงยศเยื้องกับวัดพระธาตุหริภุญชัย เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยพระยาราชกุลวิบูลย์ภักดีสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ต่อมากรมศิลปากรได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารแห่งใหม่เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2517 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุแบ่งเป็น 3 ห้อง คือ ห้องจัดแสดงใหญ่ เป็นห้องโถงยาวอยู่ชั้นบนของตัวอาคารมีการจัดแสดงวัตถุออกเป็น 3 สมัย คือ สมัยก่อนหริภุญไชย สมัยหริภุญไชย และสมัยล้านนา ได้แก่ พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูป พระพิมพ์ และเทวดา เป็นต้น, ห้องจัดแสดงศิลปพื้นบ้านและเครื่องไม้จำหลัก เป็นห้องจัดแสดงเล็กที่อยู่อาคารเล็กชั้นเดียวมีโถงเชื่อมจากชั้นบนของอาคารหลังใหญ่ วัตถุที่แสดงเป็นศิลปะสมัยล้านนา รัตนโกสินทร์ แสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องมือตีเหล็ก เครื่องมือทอผ้า เครื่องดนตรีพื้นบ้าน พานดอกไม้เชี่ยนหมาก เป็นต้น และห้องศิลาจารึก เป็นห้องโถงเปิดโล่งอยู่ชั้นล่างของตัวอาคาร จัดแสดงศิลาจารึกสมัยหริภุญไชย ราวพุทธศตวรรษที่ 17 และศิลาจารึกสมัยล้านนา สมัยพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ที่นี่เปิดทำการวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00 น. ถึง 16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0 5351 1186 หรือเว็บharipunchaimuseum.net และ เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ลำพูน

8. ถนนคนเดินจังหวัดลำพูน

ถนนคนเดินจังหวัดลำพูน จัดขึ้นที่ถนนรอบเมืองในบริเวณหน้าประตูนครหริภัญชัย อินทยงยศ อำเภอเมืองลำพูน “คืนวิถีชีวิตให้ชุมชน คืนถนนให้คนเดิน” จำหน่ายสินค้าพื้นเมือง สินค้าทำมือ อาหารอร่อยขึ้นชื่อของเมืองลำพูน นอกจากจะได้เลือกซื้อสินค้าแล้วที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่ จวนผู้ว่าฯ บ้านเก่าในอดีต วัดพระธาตุ มีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมด้านหน้าพิพิธภัณฑ์อีกด้วย ทั้งนี้ ถนนคนเดินเปิดขายทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. เป็นต้นไป

9. The Sun New Center

The Sun New Center

แรงบันดาลใจที่เนรมิต The Sun New Center ของ คุณสุรพล ดวงเกิด ผู้รักธรรมชาติและอยากมอบความสุขให้แก่บ้านเกิด ด้วยมุมมองของนักธุรกิจที่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการทำงาน จึงหาเวลาพักผ่อนในวันหยุดพาครอบครัวไปท่องเที่ยวธรรมชาติ บนเนื้อที่ 50 ไร่ พื้นที่ติดภูเขา ลมพัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน จัดแบ่งเป็นโซนสวนน้ำ 7 ไร่ และโซนเครื่องเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทากาด้า จานหมุนยักษ์มหัศจรรย์, Water Ball ลูกบอลน้ำ, สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความตื่นเต้นพบกับเครื่องเล่น Adventure เช่น รถ ATV, บันจี้จัมพ์, เก้าอี้หมุนอวกาศ และเรือไวกิ้ง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเล่นสำหรับเด็กเล็กอย่างรถมินิ บ้านลม เจ็ทการ์ตูน และชิงช้าสวรรค์สูง 18 เมตร ที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของโครงการ ในมุมสูง Bird’s eye view ได้อย่างจุใจ โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่thesunnewcenter.com

10. ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

โครงการหลวงเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดลำพูน ตำบลนาทราย อำเภอลี้ มีพื้นที่รับผิดชอบ 24,631 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 480-500 เมตร มีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ 9 หมู่บ้าน โดย 8 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บริโภคอาหารมังสาวิรัติ ได้แก่ กะเหรี่ยงโปว์และกะเหรี่ยงสะกอ ซึ่งสภาพพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก ความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้นอกจากเป็นแปลงสาธิตในศูนย์ฯ แล้ว ยังมีเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณีของชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยงกับวิถีชีวิตที่น่าสนใจ โดยในปี พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านพระบาทห้วยต้ม ทรงทอดพระเนตรเห็นสภาพพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรชาวเขา ทรงมีพระราชดำริว่า “หมู่บ้านแห่งนี้ขาดแคลนที่ทำกิน ชาวบ้านเป็นโรคขาดสารอาหาร โดยเฉพาะเด็ก ๆ และชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้อพยพมารวมกันอยู่เช่นนี้เป็นผลดีในการหักล้างทำลายป่า ลดพื้นที่ปลูกฝิ่นทางอ้อม จะได้ไม่ไปรับจ้างชาวเขาเผ่าอื่นอีกด้วย” จากนั้นทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับหมู่บานพระบาทห้วยต้มอยู่ในการดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม

กิจกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมแปลงสาธิตพันธุ์พืช เช่น มะม่วงพันธุ์นวลคำ มัลเบอร์รี คะน้าดอยคำ มะเฟืองสายพันธุ์ไต้หวัน ฯลฯ ชมการเลี้ยงหมูหลุมและกระต่ายที่บ้านแม่หละ หมู่ที่ 17 และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ซึ่งในบริเวณวัดมีรอยพระพุทธบาท พิพิธภัณฑ์วัดพระบาทห้วยต้ม รวมถึงสรีระของท่านครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนาให้เข้าชมและสักการะ โดยการเข้าเที่ยวชมวัดให้งดเส้นการน้ำเนื้อสัตว์เข้าสู่ภายในบริเวณวัด นอกจากนี้ ยังมีพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อันเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีมะเมียให้แวะมาสักการะ  ชมวิถีชีวิตกะเหรี่ยงโบราณบ้านน้ำบ่อน้อย ชุมชนดั้งเดิมมีการสร้างบ้านแบบโบราณไม่ใช้ตะปู มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย บริเวณพื้นที่มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับเมืองใต้ดิน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์และรอยพระบาท ชมงานหัตถกรรมเครื่องเงิน ที่มีเอกลักษณ์ลวดลายที่สะท้อนวิถีชีวิตของชนเผ่ากะเหรี่ยง และการออกแบบลวดลายต่าง ๆ ซึ่งดัดแปลงจากธรรมชาติ เช่น ปลา ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ดข้าว ตามวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งที่นี่นับได้ว่าเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ฯลฯ